สถานะประชากรและภัยคุกคามของเสือปลาในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีการใช้ประโยชน์จากมนุษย์

การลดลงของถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติและความขัดแย้งที่รุนแรงส่งผลให้ประชากรเสือปลาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก ถึงกระนั้นการขาดการประเมินประชากรและความหนาแน่นรวมไปถึงการประเมินภัยคุกคามซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นจึงเป็นช่องว่างในการจัดการการอนุรักษ์เสือปลา งานวิจัยนี้ได้ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าและใช้การวิเคราะห์แบบจำลองการจับและจับซ้ำเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินความหนาแน่นของประชากรเสือปลาบริเวณพื้นที่ภายในและภายนอกรอบๆอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลการประเมินความหนาแน่นของประชากรเสือปลาครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทำการสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆพื้นที่อุทยานเพื่อทำความเข้าใจทัศนคติของคนในท้องถิ่นที่มีต่อเสือปลา รวมไปถึงสาเหตุที่สร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา ในปี 2561- 2562 จากการประเมินความหนาแน่นของประชากรเสือปลาพบว่า มีเสือปลา 18 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เสือปลาส่วนใหญ่ (73%) อาศัยอยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง จึงเป็นต้นเหตุที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลาและนำไปสู่การล่าหรือฆ่าเสือปลาอย่างผิดกฎหมาย โดยข้อมูลแบบสอบถามรายงานว่าปัญหาที่พบบ่อยเกิดจากการที่เสือปลาเข้ามากินปศุสัตว์ (18 เหตุการณ์) ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายภาษีที่ดินก้าวหน้าของรัฐบาลอาจเป็นปัจจัยเร่งให้นำไปสู่การแปลงสภาพที่ดินอย่างกว้างขวางในพื้นที่ เพราะเจ้าของที่ดินจะต้องจ่ายอัตราภาษีที่สูงขึ้นสำหรับที่ดินที่รกร้างหรือที่ดินที่ไม่ได้ถูกใช้งานในทางการพัฒนาเศรษฐกิจ จนอาจส่งผลในให้ที่ดินรกร้างกว่าร้อยละ 30  ของที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับเสือปลาสูญเสียไป กระนั้นนโยบายการลดหย่อนภาษีที่ดิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินเก็บรักษาที่ดินของตนไว้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของเสือปลา จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่ อีกทั้งการดำเนินโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยชุมชนมีส่วนร่วมนั้นจะช่วยลดทัศนคติเชิงลบต่อเสือปลาได้

ข้อมูลอ้างอิง

Phosri K., Tantipisanuh N., Chutipong, W.,  Gore, M.L., Giordano, A.J. and Ngoprasert D., 2021. “Fishing cats in an anthropogenic landscape: a multi-method assessment of local population status and threats”. Global Ecology and Conservation, e01615. https://doi.org/10.1016/j.gecco.2021.e01615

 

นายกิติพัทธิ์ โพธิ์ศรี

กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สายวิชาการจัดการทรัพยากรชีวภาพ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

โทรศัพท์ 02-470-7559, 092-508-6538  email: pskitipat@gmail.com